วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

มองประเด็นเดือด"ใครสั่งปฏิวัติ"




เวทีปรองดองทำท่าจะเป็นสนามมวยสร้างวิกฤตรอบใหม่
เมื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งคำถามถึงผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการปรองดอง ในฐานะอดีตประธาน คมช. 
การเปิดประเด็นดังกล่าว ทั้งที่เหตุการณ์ล่วงเลยมาเกือบ 6 ปี จะมีผลต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดองในขณะนี้หรือไม่ รวมถึงถ้ารู้ความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในทางใด
นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ


จาตุรนต์ ฉายแสง 
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย 

ขึ้นอยู่กับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะตอบคำถาม อธิบาย หรือทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีประชาชนสนใจ ติดใจว่าใครทำอะไรไปบ้าง รวมทั้งความจริงในช่วงนั้นคืออะไร ซึ่งหลายประเทศก็ตั้งคำถาม

พล.ต.สนั่นจะตั้งคำถามกับพล.อ.สนธิก็ไม่แปลก เพราะสังคมอยากรู้ หากรู้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป นำไปสู่การลงโทษ ขอโทษหรือให้อภัยก็เป็นอีกเรื่อง 

แต่หลังเกิดเหตุรัฐ ประหารปี཭ การลงโทษคงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป เพราะเกิดการนิรโทษกรรมตัวเองกันไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากความจริงปรากฏก็เหลือเพียงแค่การขอโทษ และการให้อภัยทางการเมืองเท่านั้น 

แต่บังเอิญว่าความจริงเรื่องนี้ไม่ปรากฏ ดูจากการตอบคำถามของพล.อ.สนธิที่ว่าถึงตายก็ตอบไม่ได้ว่าใครสั่งการ เมื่อคนที่รู้เรื่องดีที่สุดไม่ตอบ คงไม่สำคัญอีกแล้วว่าใครเป็นคนสั่งการหรืออยู่เบื้องหลัง

แต่ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สังคมเกิดความเข้าใจมากขึ้นในการปฏิเสธและเห็นความเลวร้ายของการรัฐประหารที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับประเทศ 

รวมทั้งให้ผู้ที่สั่งการอยู่เบื้องหลังเกิดความสำนึกว่า ทำความเสียหายให้กับบ้านเมืองยับเยิน จากนี้ไปจะไม่ทำแบบนี้อีก 

การสร้างความปรองดองในขณะนี้ ที่มีหน่วยงานทำวิจัยและทำข้อเสนอออกมาเพื่อหาทางออก กลับถูกมองว่าเป็นพวกมีสังกัดหรือฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีก ทำให้การหาทางออกยังยากอยู่ 

ดังนั้น มีอยู่ 2 ทางคือ 1.เริ่มจากฝ่ายที่จะไม่ได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มเสื้อแดงซึ่งถูกกระทำ เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการปรองดอง โดยยอมหรือให้อภัยรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชน เป็นต้น 

และ 2.ทำให้สังคมหรือผู้ที่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาช่วยกันออกเป็นฉันทามติหรือกระแสสังคม ให้คู่ขัดแย้งยอมถอย ยอมที่จะไม่ได้ประโยชน์ หรือยอมที่จะต้องเสียอะไรบ้างเพื่อหาทางออก 

เพราะหากปล่อยให้คู่ขัดแย้งเดินเรื่องกันไปตามลำพัง จะเกิดความขัดแย้งแบบไม่สิ้นสุด 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ได้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านเร็วขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับไทยได้หรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัยและหลายฝ่ายบนกติกาที่เป็นธรรม

รวมทั้งสังคมเกิดความปรองดองในระดับหนึ่งด้วย 

--------------

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์
ส.ว.สรรหา อดีตรองผบ.สส.

ไม่ว่าสังคมจะเปิดประเด็นเบื้องหลังมือที่มองไม่เห็นนี้เมื่อใด หากเป็นจริงก็ยังคงคำตอบเดิมอยู่ แต่ทำไมคราวนี้เขากลับเปลี่ยนคำตอบที่มีมา 5-6 ปี จึงเป็นที่สงสัยของสังคมขึ้นมาอีก 

พล.ต.สนั่นตั้งคำ ถามแบบนี้ถือเป็นสิทธิ์ในฐานะผู้ติดตามเรื่อง คงรู้ว่าปัญหาที่สังคมยังคาใจอยู่เกิดจากอะไร อยากทำให้การเดินหน้าสู่ความปรองดองง่ายขึ้น

แต่หากคิดในแง่ของทหารที่มักยึดคติไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน เลยไม่ยอมเปิดปากก็เป็นได้

ผมไม่คิดว่าจะมีผู้ใหญ่คนใดมาสั่งการให้เขายึดอำนาจ เพราะถือเป็นเรื่องความเสี่ยงรายบุคคล แม้จะมีแบ๊กหรือไม่ก็ล้วนเป็นเรื่องผิดกฎหมายบ้านเมืองทั้งสิ้น 

เราอาจจินตนาการกันไปเองว่า เรื่องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ หรือยึดความคิดบนพื้นฐานความจำที่เคยมีมา ทำให้คิดว่าเรื่องนี้จะต้องมีใครสนับสนุน การที่สังคมคิดอย่างนี้เพราะไม่เคยรับรู้ความจริง 

ฉะนั้นการสร้างความปรองดองคือ การออกมาพูดความจริงของทุกฝ่าย ใช้ความกล้าหาญกล้าพูดว่าเคยตัดสินใจอะไรผิดพลาด ขอโทษต่อสังคม พร้อมยอมรับโทษบ้าง สังคมคงให้อภัยและพร้อมประนี ประนอม 

ไม่ใช่มัวขัดแย้งกันไม่มีวันจบ ทุกคนต้องกลับไปทบทวนบทบาทของตัวเองว่าทำอะไรผิดบ้าง ไม่มีใครทำผิดหรือถูกไปทุกอย่างได้หมด ขอให้ยอมรับด้วยความจริงใจ ประเทศจะสู่สันติภาพได้มากขึ้น 

อย่ามัวแต่ไปโทษใครจ้างมาถาม ใครจ้างมาทำ เพราะนั่นไม่ใช่ทางออกของประเทศ 

--------------

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช 
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

การทราบความจริงในบางกรณีอาจทำให้สังคมคลี่คลาย แต่บางกรณีก็อาจทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้น กรณีนี้พล.อ.สนธิ ยังไม่ได้ตอบว่าเป็นใคร หรือถ้ามี ควรจะเป็นใคร 

เราอาจคิดกันมากไปว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง หากพล.อ.สนธิออกมายอมรับแล้วสังคมจะเชื่อหรือไม่ ถ้าบอกไม่มี สังคมก็จะบอกว่าโกหก 

แต่ถ้าพล.อ.สนธิกล่าวว่าใครอยู่เบื้องหลัง อาจเป็นประโยชน์สำหรับคนในสังคม ต่อการนำไปวิเคราะห์ปัจจัยที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

ขณะนี้สังคมส่วนใหญ่ใช้วิธีคาดเดา สร้างเรื่องเกี่ยวกับคนที่อยู่เบื้องหลังให้ดูเหมือนนิยายมากกว่าความจริง การเอาความจริงมาช่วยกันคลี่คลายข่าวลือทั้งหลายน่าจะเป็นสิ่งที่ดี

แต่ถ้าคำตอบไม่ตรงกับความเชื่อที่แต่ละคนคิดไว้ แล้วจะยอมรับกับความจริงได้หรือไม่ 

คำตอบทุกอย่างมีผลต่อการปรองดองหมด แต่การปรองดองไม่ใช่แค่การลืมว่าเคยเกิดอะไรขึ้น หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะแล้วอีกฝ่ายต้องยอมรับ 

การปรองดองต้องมีคนที่ผิดในบางเรื่อง แต่คนที่ถูกกระทำต้องพร้อมให้อภัย การปรองดองถึงจะก้าวไปข้างหน้าได้ ส่วนคนที่ให้อภัยจะได้ประโยชน์มากกว่าคนที่ถูกให้อภัย เหมือนยกความโกรธ ความขุ่นเคืองออกไปจากอก 

แต่เป็นการยากสำหรับคนที่ถูกกระทำ คงไม่สามารถทำให้การปรองดองพลิกผันไปได้ไกล เนื่องจากการปฏิวัติเกิดขึ้นไปแล้ว และคงเป็นปมไปอีกนาน หรือหากให้ลืมก็คงเป็นไปไม่ได้ 

การคลี่คลายปมเวลานี้ต้องดูด้วยว่ามีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

ผลจากคำถามและคำตอบของพล.ต.สนั่น และพล.อ.สนธิ คงไม่ทำให้การปรองดองล้มเหลวหรือเสียหายเลยทีเดียว บังเอิญว่า 2 คนมีอำนาจและมีความสำคัญในทางการเมือง สังคมจึงต้องจับตาดู 

แต่ถ้าไม่มีการสืบประเด็นนี้ต่อ และไม่ถูกดึงมาเป็นประเด็นหลัก ความสนใจอาจพุ่งไปที่ประเด็นอื่น อาทิ การปรองดอง การใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด การปะทะกันของม็อบ ความยุติธรรมในสังคมไทย เรื่องสองมาตรฐาน

ตรงนี้อาจทำให้การปฏิวัติรัฐประ หารกลายเป็นเพียงประเด็นรองเท่านั้น

การนิรโทษกรรมและอภัยโทษมีความต่างกัน การอภัยโทษหมายถึง คดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยตัดสินไปแล้วว่ามีความผิด ผู้ต้องหามารับโทษจึงจะมีการอภัย โทษได้ แต่การนิรโทษกรรมหมายถึง การลบความผิดทั้งหมด 

ฝ่ายที่สนับสนุนก็อยากให้เริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ แต่ฝ่ายที่คัดค้านมองว่าสิ่งที่กระทำไปแล้ว คนผิดควรได้รับโทษ ทัณฑ์ ดังนั้น ทั้งการนิรโทษกรรมและอภัยโทษ อาจต้องพิจารณากันหนักมาก

เพราะสิ่งที่กระทำไปมีหลายเรื่องและหลากหลาย เราควรให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมในการร่างกฎหมายให้เป็นกฎกติกาที่ชัดเจน 

ไม่ใช่แค่การเลือกปฏิบัติว่าจะละเว้นโทษให้ใครหรือกรณีใด หากสังคมยอมรับและรู้สึกว่าเหมาะสมก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการปรองดอง ไม่ได้หมายความว่าคนในสังคมต้องรักและต้องชอบพอกันทั้งหมด แต่ความปรองดองที่แท้จริงคือ คนในสังคมพร้อมจะอยู่ร่วมกันได้

แม้จะรู้สึกถึงความเป็นศัตรู ไม่ชอบหน้ากัน แต่ต้องมีวิธีการทำสังคมให้อยู่ร่วมกันได้
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:20 น. 
 http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1qY3pOVGN3T1E9PQ%3D%3D&sectionid



ไม่มีความคิดเห็น: