วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไต่สวนศพ


คอลัมน์ที่ 13







วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7784 ข่าวสดรายวัน

 
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553 ขึ้นสู่กระบวนการไต่สวนของศาลอาญาแล้วเบื้องต้นจำนวน 7 ราย เพื่อสืบหาสาเหตุว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติอันเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือไม่

การไต่สวนการตาย เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าหากสามารถสืบได้ว่า ในกรณีที่มีการตายเกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งใน 2 กรณีคือ

กรณีเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่น การวิสามัญฆาตกรรม คนร้ายที่ยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจขณะทำการจับกุม

การตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่น ผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของตำรวจเสียชีวิตในห้องขัง ซึ่งทั้ง 2 กรณีต้องมีการไต่สวนการตายโดยศาล

สำหรับมาตรา 150 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้ บัญญัติขึ้นโดยมุ่งหมายให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และญาติของผู้ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนำหลักฐานมาเปิดเผยในศาลว่า การปฏิบัติราชการตามหน้าที่นั้น กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายอนุญาต ด้วยความสุจริต

ส่วนญาติผู้ตายก็ต้องหาหลักฐานมาโต้แย้งหรือแสดงให้เห็นว่า ยังไม่เชื่อมั่นหลักฐานของเจ้าหน้าที่ที่นำมาเสนอต่อศาล และตั้งทนายความเข้ามาซักค้านและนำสืบพยานหลักฐานของตน ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อให้ได้ความจริงดังกล่าว จึงมีบุคคลหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วย กล่าวคือ

ขั้นตอนแรก กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ฝ่าย ร่วมกันทำการชันสูตรพลิกศพ คือ 1.พนักงานอัยการ 2. พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ 3.พนักงานสอบสวน และ 4. แพทย์ ซึ่งกฎหมายระบุให้ต้องเป็นแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ที่มีวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา

ขั้นตอนที่ 2 ให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งไปยังพนักงานอัยการ ภายใน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

ดังนั้น การไต่สวนการตายโดยศาลจึงเป็นไปตามนัยนี้ เพื่อให้ศาลตรวจสอบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร หากตายโดยเจ้าหน้าที่ก็ให้บอกว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งคำสั่งศาลไม่ใช่การนำเจ้าหน้าที่มาลงโทษ หรือต้องรับผิดชอบทางคดี

กรณีจะเป็นข้อหาในคดีอาญาก็ต่อเมื่อ ผลจากคำสั่งศาลแสดงว่าเจ้าหน้าที่กระทำให้ตาย โดยไม่ใช่การปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อนั้นพนักงานสอบสวนต้องจัดทำสำนวนเป็นคดีขึ้นใหม่ และดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หรือกลุ่มนั้นในคดีอาญาต่อไป

คดีเสื้อแดงที่เมื่อไต่สวนแล้ว จะมีผู้ใดต้องรับผิดรับโทษหรือไม่ เป็นกรณีน่าติดตาม


____________________________________________________


ข้อมูลจาก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นิยามทางนิติศาสตร์

การฆ่าคน (murder) เป็นการกระทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตาย จัดเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ทางนิติศาสตร์แบ่งเป็นสองประเภท คือ การทำให้คนตายโดยเจตนา (homicide) และการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter) การฆ่าคนทั้งสองประเภท ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักหรือเบาตามกฎหมายแล้วแต่กรณี



"การฆ่าคน" และ "ฆาตกรรม"
คำว่า "การฆ่าคน" เป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน ให้ใช้แทนคำภาษาอังกฤษว่า "murder"
ส่วน "ฆาตกรรม" มีความหมายตามพจนานุกรมมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า "การฆ่าคน" แต่มิใช่ศัพท์บัญญัติที่ทางราชการมุ่งหมายให้ใช้อย่างเป็นทางการทั้งนี้ "ฆาตกรรม" เป็นคำสมาสระหว่างคำ "ฆาต" (บาลี. ตี, ฟาด, ฟัน, ฆ่า, ทำลาย) + "กรรม" มีความหมายตามอักษรว่า การตี, การฟาด, การฟัน, การฆ่า, การทำลาย ผู้กระทำฆาตกรรมเรียกว่า "ฆาตกร"
ปัจจุบันมีการใช้คำ "ฆาตกรรม" คละไปกับคำ "การฆ่าคน" ทั้งนี้ คำทั้งสองมีความหมายเดียวกันดังข้างต้น

ภูมิหลังเกี่ยวกับการฆ่าคน

การถือว่าการฆ่าคนเป็นความผิดอาญา ปรากฏเป็นครั้งแรกสุดในประมวลกฎหมายพระเจ้าเออร์-นัมมู (Ur-Nammu) กษัตริย์ชาวสุเมเรียน โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นในระหว่างประมาณ 2100 ปีถึง 2050 ปีก่อน ค.ศ. มาตราหนึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วไซร้ ผู้นั้นต้องระวางโทษประหารชีวิต"
ในศาสนาเอบราฮัม (Abragamic Religions) การฆ่าคนถือเป็นสิ่งต้องห้าม โดยปรากฏอยู่ในบัญญัติ 10 ประการที่พระเจ้ามอบแก่โมเสสบนยอดเขาเซนาย
ตามกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ การฆ่าคนถือเป็นความผิดสาธารณะ (public wrong)



นิยามทางนิติศาสตร์

นิยามของ "การฆ่าคน" นั้น ประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณีเช่นประเทศอังกฤษเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนเอาไว้ตายตัว เพียงรับรู้กันว่าเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ก็เพียงพอแล้ว และในกรณีเช่นนี้ คำตัดสินก่อน ๆ ของศาลมักใช้เป็นที่พิจารณาว่าการฆ่าคนตามกฎหมายจารีตประเพณีนั้นถือเอาการกระทำเช่นไรบ้าง ส่วนประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายเช่นประเทศไทยมักมีการบัญญัตินิยามของ "การฆ่าคน" เอาไว้อย่างตายตัว และนิยามอาจแก้ไขได้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่เป็นไป

องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการฆ่าคน

การฆ่าคนพิจารณาจากองค์ประกอบขั้นพื้นฐานสองประการดังต่อไปนี้
1. การฆ่าคนนั้นเป็นการกระทำอันจะเป็นความผิดอาญา (actus reus)
2. การฆ่าคนนั้นเป็นไปเพราะมีเจตนาร้าย (mens rea) พิจารณาจากวัตถุประสงค์ ความจงใจ ความหวังผลร้าย การไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และ/หรือการปราศจากความระมัดระวังหรือยับยั้งชั่งใจ (wanton)
ทั้งนี้ โดยทั่วไป ความหวังผลร้ายมักไม่ใช้พิจารณาเป็นองค์ประกอบข้างต้นสักเท่าใด เนื่องด้วยถือว่าความจงใจที่จะฆ่าคนนั้นย่อมเกิดจากความหวังผลร้ายอยู่แล้ว และบางครั้งในการฆ่าคนที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจหรือในหรือคดีอุกฉกรรจ์บางประเภท ก็ถือไปโดยปริยายว่าย่อมเกิดจากความหวังผลร้ายอยู่แล้ว









ข้อพิจารณาเพิ่มเติม

1. การฆ่าคนโดยไม่เจตนาหรือไม่ได้หวังผลร้าย มักถือว่าเป็นการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา
2. การฆ่าคนโดยชอบด้วยกฎหมาย (เช่น การประหารชีวิต หรือการทำให้คนตายโดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชา) และการทำคนตายโดยอุบัติเหตุ ถือเป็นการทำให้คนตายโดยเจตนา ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี เป็นต้นว่า
  • คำพิพากษาของศาลให้ลงโทษประหารชีวิตเป็นการสั่งให้ฆ่าคน แต่ไม่มีความผิดเนื่องจากเป็นวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process of law)
  • การฆ่าปรปักษ์ (combatant) โดยคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายที่มีขึ้นในระหว่างภาวะสงคราม รวมตลอดถึงการฆ่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในภาวะสงคราม อาจถือเป็นการฆ่าคน และอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม (แต่จะมีโทษหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี)
3. ในสังคมหลายภาคส่วนของโลก การฆ่าตัวตายไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เนื่องจากจำเลยและผู้เสียหายเป็นบุคคลเดียวกัน ทั้งนี้ การสนับสนุนการฆ่าตัวตายอาจถือว่าเป็นความผิดขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี


อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ>>> การฆ่าคน - วิกิพีเดีย






ไม่มีความคิดเห็น: