วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปิดคิวคดีเหยื่อปืนเม.ย.-พ.ค.53

น.  
ากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 91 ศพ 

ผลการสอบสวนที่ยืดเยื้อมานาน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจบช.น.และอัยการสรุปผลการสืบสวนสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพและส่งสำนวนให้ศาลอาญาพิจารณานัดวันไต่สวนแล้วจนถึงขณะนี้ทั้งสิ้น 18 คดีซึ่งพยานหลักฐานบงชี้ว่าอาจเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วย

คดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เมื่อเจ้าหน้าที่ปะทะกับคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกคอกวัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงเหตุการณ์วันปะทะเดือด 19 พ.ค.บริเวณสี่แยกราชประสงค์ 

นายวสันต์ ภู่ทอง อายุ 39 ปี ชาวสมุทรปราการ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง และถูกสไนเปอร์ยิงกระสุนเข้าศีรษะระหว่างถือธง จนเสียชีวิต ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง บริเวณแยกคอกวัว กทม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 

ขณะที่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ชาวญี่ปุ่นช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงด้วยกระสุนอาก้า เอเค 47 เข้าที่หน้าอก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เวลา 21.00 น. ด้านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

นายทศชัย เมฆงามฟ้า วัย 44 ปี พร้อมครอบครัวเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช. อาศัยอยู่ที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ถูกยิงที่หน้าอกทะลุหัวใจ เสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

นายมานะ อาจราญ พนักงานดูแลบำรุงรักษาสัตว์สวนสัตว์ดุสิต ถูกยิงตายในสวนสัตว์ดุสิต เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งเป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐปะทะกับม็อบ โดยทหารชุดหนึ่งเข้าไปประจำการอยู่ในสวนสัตว์ดุสิต และนายมานะ ถูกยิงเสียชีวิตขณะที่เพิ่งเลิกงานกำลังจะเดินทางกลับบ้านตอนดึก

พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 บน ถ.วิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กทม. ขณะขี่จักรยานยนต์กับพวกเพื่อมาสมทบกับทหาร-ตำรวจที่ตั้งแถวป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางผ่านมาทาง ถ.วิภาวดีฯโดยมีพยานยืนยันว่าเห็นเจ้าหน้าที่ยิงปืนเข้าใส่กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่แล่นเข้ามา

นายชาติชาย ชาเหลา หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกยิงตายเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 ระหว่างเดินถ่ายวิดีโอบริเวณริมถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี

นายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 บริเวณทางเท้าข้างร้านอาหารระเบียงทอง เขตปทุมวัน กทม. โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เนื่องจากไปกินอาหารที่ร้านดังกล่าว พอเดินออกมาก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ รักษาตัวอยู่นาน 2 เดือนก่อนจะเสียชีวิต 

นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 บริเวณ ถ.พญาไท เขตราชเทวี กทม. ขณะใช้หนังสติ๊กยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ น้องอีซา อายุ 14 ปี ถูกยิงเข้าหลังทะลุท้อง และ นายพัน คำกอง ถูกยิงต้นแขนซ้ายกระสุนตัดเส้นเลือดใหญ่ 

เหตุเกิดที่ซอยโรงหนังโอเอ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 โดยทั้งสองรายไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม แต่ถูกกระสุนพลาดไปโดนจนเสียชีวิต

นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และนายประจวบ ประจวบสุข ตายในเหตุการณ์เดียวกัน คือการปะทะกันบริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553

คดีฆ่าหมู่ 6 ศพในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตอภัยทาน ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อเย็นวันที่ 19 พ.ค.2553 ได้แก่

นายรพ สุขสถิตย์ อายุ 66 ปี เป็นคนขับรถลีมูซีนส่งผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่มาถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมฯโดยเป็นศพสุดท้ายที่ตกค้างอยู่ภายในสถาบันนิติเวช ร.พ. ตำรวจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุชื่อผิดเป็น นายวิชัย มั่นแพ อายุ 30 ปี จนเกิดความสับสน

น.ส.กมนเกด อัคฮาด ซึ่งเป็นพยาบาลอาสาประจำเต็นท์หน้าวัดปทุมวนาราม ถูกยิงด้านหลังกระสุนทะลุฝังศีรษะ 1 นัด นายมงคล เข็มทอง อายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถูกยิงหน้าอกขวา 1 นัด นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ช่วยพยาบาลภายในเต็นท์ ถูกยิงต้นแขนขวาทะลุโหนกแก้มขวา 1 นัด โดยทั้ง 3 ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกฝ่าย แต่กลับถูกรัวยิงจนเสียชีวิตคาเต็นท์พยาบาลที่อยู่ในวัด

นายสุวัน ศรีรักษา ทำงานเป็นช่างก่อสร้างและเป็น 1 ในการ์ดนปช. ถูกยิงหน้าอกซ้าย 1 นัด 

นายอัฐชัย ชุมจันทร์ วัย 28 ปี บัณฑิตนิติ ศาสตร์จากรั้วรามคำแหง เข้าชุมนุมทำหน้าที่ช่วยดูแลแจกอาหาร ประจำหน้าเวทีราชประสงค์ ซึ่งขณะเดินออกมาจากรั้วประตูวัดปทุมวนาราม ถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม เข้าด้านหลังทะลุหน้าอก 1 นัด ที่บริเวณเหนือราวนมข้างซ้าย กระสุนทะลุปอด เสียชีวิต


ที่มาข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:59 น. 



ไม่มีความคิดเห็น: