วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

ย้อนรอยคดีไออีซี-ขุดพฤติการณ์จำเลยร่วมก่อนถึงวันศาลจำคุก "สนธิลิ้ม" 85 ปี


ารรับสารภาพของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยในคดียื่นเอกสารเท็จค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัทเดอะ เอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท ต่อศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาคอการเมืองและนักกฎหมายไม่น้อยทีเดียว

หากต้องการยื้อคดีออกไปได้อีก นายสนธิสามารถสู้คดีด้วยการปฏิเสธข้อกล่าวหา เพราะคดีนี้ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ปี2539อีกทั้งฐานความผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 307  311  312(2) ประกอบ 313 มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี

น่าแปลกตรงที่นายสนธิกลับรับสารภาพอย่างหมดเปลือกและขอเมตตาธรรมจากศาล

"ผมเพียงแต่ขำเท่านั้นเองว่าผมผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ผมโดนไป 80 ปี ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ใช่คนที่ค้ายาเสพติด หรือไม่ได้ไปเผาบ้านเผาเมืองใคร แต่ไม่เป็นไร ในฐานะที่ผมรับสารภาพก่อนการสืบคดีสิ้นสุด ศาลสถิตยุติธรรมมีมติจะพิพากษาผมอย่างไร ผมยอมรับในมตินั้น ไม่ตัดพ้อต่อว่า เพราะผมต้องการทำให้ผมเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อผิดต้องยอมรับผิด"
    นั่นเป็นถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของนายสนธิ  ปัจจุบันเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังศาลให้ประกันตัว 

ความจริงแล้วคดี แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ยื่นเอกสารเท็จค้ำประกันเงินกู้แบงก์กรุงไทยดังกล่าว ค้างอยู่ในศาลอาญานานถึง 16 ปีเต็ม ๆ  ถือได้ว่าเป็นคดีที่ค่อนข้างมีเงื่อนงำซับซ้อน
 
ถ้าย้อนอดีตจะพบมีคดีที่เกี่ยวโยงกับเดอะ เอ็มกรุ๊ป  พฤติกรรมในคดีคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง

กล่าวคือทำเอกสารเท็จ และมีเป้าหมายเพื่อกู้เงินแบงก์กรุงไทย อีกทั้งผู้กระทำผิดคือนายสุรเดช มุขยางกูร ก็เป็นจำเลยร่วมกับนายสนธิ

คดีดังกล่าวนั้น เริ่มขึ้นเมื่อวันที่  28 พฤศจิกายน 2542 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)  กล่าวโทษ นายสุรเดช มุขยางกูร กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่าที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทอินเตอร์แนชั่นแนลเอ็นยิเนียริ่งจำกัด(มหาชน)หรือไออีซีอนุมัติให้ไออีอีซี เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในนามของไออีซี อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของไออีซี กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ ไออีซี ก่อน

พฤติการณ์ของนายสุรเดช ทำให้ ไออีซี มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2554  ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่านายสุรเดช มุขยางกูร มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ

(1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา312(2)แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯให้จำคุก5ปีและปรับ 500,000 บาท

(2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล

(3)ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา307311ประกอบ313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท

แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ 1,178,000,000 บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 1,178,250,000 บาท
  
พฤติการณ์ความผิดของนายสุรเดช ในคดีไออีซี กับพฤติการณ์ของนายสุรเดช ในคดีแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ที่ตกเป็นจำเลยร่วมกับนายสนธินั้น จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องขำ ๆ เหมือนเช่นนายสนธิให้สัมภาษณ์ที่บันไดของศาลอาญา รัชดา








วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 02:38 น.  ข่าวสดออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: