วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

มูลเหตุและความจำเป็นที่นำไปสู่การ "เลิกระบบไพร่" อันล้าหลัง


ภาพถ่ายทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอก สมัยรัชกาลที่ 4

การจะทำความเข้าใจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสถาปนา "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาภูมิหลังและลำดับขั้น ตลอดจนวิกฤตกาลแต่ละครั้ง ก่อนที่ระบอบการปกครองใหม่ที่เข้ามาแทนที่ "ระบอบศักดินา (จตุสดมภ์)" หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สองหลังพระชนมายุครบ 20 พรรษา นอกเหนือจากการปฏิรูประบบการเงินการคลังของแผ่นดินเสียใหม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรและจัดสรรงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินมาอยู่ในการกำกับดูแลของส่วนกลาง (คือ "ราชสำนัก") แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว การดำเนินการปลดปล่อย "พลังการผลิต" อย่าง "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" ก็เกิดขึ้นมาแทบจะในทันทีที่ "วิกฤตการณ์วังหน้า" ยุติลงก่อนที่จะบานปลายเป็นการ "ก่อกบฏ" หรือ "ยึดอำนาจ" นั่นคือ แนวพระราชดำริในการ "เลิกทาส" และ "เลิกไพร่" และทั้ง 2 ประการนั้น ก่อผลสะเทือนต่อราชอาณาจักรสยามในช่วงเวลาถึง 30 ปี

ที่สำคัญ ผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นทั้งในหมู่ "ชนชั้นสูง" ทั้งที่เป็น "เจ้านาย" และ "ขุนนาง/อำมาตย์" กระทั่งเกิด "กบฏ" ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 และเกิดขึ้นในหมู่อาณาประชาราษฎรทั้งที่เป็น "ทาส" และที่เป็น "ไพร่" ซึ่งฝ่ายหลังนี้เองที่นำไปสู่ปฏิกิริยาของการ "แข็งข้อ" ตามหัวเมืองต่างๆ หลายภูมิภาคของสยาม เกิดเป็น "กบฏไพร่" หรือ "กบฏผีบุญ"

ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชนชาติไทยในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนจะเป็นประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน นั่นคือ "การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475" อันเป็นการสิ้นสุด "รูปแบบ" ระบอบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ "ความพยายามในการสถาปนา" ระบอบการปกครองที่ "กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"

สำหรับมูลเหตุของกระบวนการ "เลิกไพร่" นั้น พอจะพิจารณาได้ดังนี้

1. การควบคุมไพร่ที่มีมาแต่เดิมถึงช่วงที่ไร้ประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถควบคุมคนได้ ในขณะที่มูลนายอื่นๆได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากไพร่ และใช้ไพร่เป็นอำนาจทางการเมือง

2. ไพร่บางส่วนได้รับกดข่มขี่เหงจากมูลนายก็หลบหนีไปอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากอำนาจบังคับบัญชาของมูลนาย หรือของ "ราชการ" มีแนวโน้มที่อาจซ่องสุมผู้คนขึ้นแข็งข้อหรือถึงขั้นก่อกบฏ เพื่อแบ่งแยกการปกครอง

3. เพื่อลดอิทธิพลอำนาจของมูลนายหรือขุนนาง เนื่องจากการเกิดวิกฤตการณ์วังหน้า พ.ศ.2417 แสดงให้เห็นว่ากำลังไพร่พลของขุนนางที่เริ่มมีการฝึกหัดตามแบบทหารตะวันตกสามารถสร้างความไม่มั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์ได้ ในขณะเดียวกันราชสำนักก็เล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกองกำลังทหารตามแบบตะวันตกที่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งมีผลต่อความ "จงรักภักดี" และการ "รวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาทางทหาร" ไว้ที่ศูนย์กลางของประเทศ

ทั้งนี้ การจัดการทหารอย่างยุโรปเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงจ้าง ร้อยเอก อิมเปย์ และ ร้อยเอก น็อกส์ ชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางจากอินเดียผ่านเข้ามาทางพม่า ให้เป็นครูฝึกหัดทหารบก ทั้งทหารของวังหน้าและวังหลวง ดังนั้นใน พ.ศ. 2395 กองทหารที่ได้รับการฝึกและจัดแบบตะวันตก ประกอบด้วย กองรักษาพระองค์อย่างยุโรป, กองทหารหน้า และกองปืนใหญ่อาสาญวน

"กองทหารหน้า" เป็นหน่วยที่ได้รับการฝึกแบบใหม่ มีอาวุธใหม่ และมีทหารประจำการมากกว่าทหารหน่วยอื่นๆ และถือได้ว่าเป็นรากเหง้าของกองทัพบกในปัจจุบันนี้

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทหารหน้าใน พ.ศ. 2398 พระองค์ทรงรวบรวมกองทหารที่อยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วกรุงเทพฯ มารวมไว้ที่เดียวกัน คือโรงทหารสนามไชย อันได้แก่

          - กองทหารฝึกแบบยุโรป (เดิมอยู่ริมคลองโอ่งอ่างฝั่งตะวันออก)
          - กองทหารมหาดไทย (ซึ่งถูกเกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ)
          - กองทหารกลาโหม (ซึ่งถูกเกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายใต้)
          - กองทหารเกณฑ์หัด (คือพวกขุนหมื่นสิบยก ขึ้นกับกองทหารหน้า)

4. จากการทำ "สนธิสัญญาบาวริ่ง" หรือ "หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม" ที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2369

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก ทั้งยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิทางศาล) ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้

การ "จำยอม" เปิดการค้าเสรีกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นผลให้เกิดการขยายตัวทางการผลิตและการค้าโดยเฉพาะข้าว ทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อใช้ในการทำนาสูงขึ้น มีการอพยพของแรงงานจากต่างถิ่นเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจการค้าสำคัญทั้งในส่วนกลาง และตามหัวเมือง ผลที่ตามมาก็คือความจำเป็นที่ต้องการใช้แรงงานเกณฑ์จากไพร่ลดความต้องการลง และความต้องการ "ราษฎรที่ไม่มีสังกัด" มีมากขึ้น การดำเนินกิจการเรือกลจักรไอน้ำขึ้นล่องเขตภาคกลางตอนบนแม่น้ำสายหลัก คือ "เจ้าพระยา" เป็นผลในการค้าขายมีปริมาณที่สูงขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา จาก "เงินพดด้วง" (มีตราประทับ 2 ดวงเป็นสำคัญ คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล)  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าเฟื่องฟู การผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคน ไม่สามารถจะผลิตได้ทันความต้องการ ด้วยความจำเป็นต้องรีบผลิตเงินตราจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งเครื่องทำเหรียญกษาปณ์เข้ามา แต่ก็ยังให้ใช้เงินพดด้วงต่อไป จนมีการประกาศยกเลิก วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2447 และให้ใช้เหรียญกษาปณ์กลมแบนตามแบบของยุโรปเป็นเงินตราของสยาม

5. สำหรับสภาวการณ์สืบเนื่องจากการทำสัญญากับอังกฤษนี้เอง ประกอบกับการตกเป็นเมืองอาณานิคมของชาติเพื่อนบ้าน เท่ากับเป็นภาพสะท้อนการการคุมคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้รัฐบาลในเวลานั้น หรือราชสำนัก ต้องคำนึงถึงทัศนะความคิดเห็นของชาติตะวันตก เกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงานกับการสักเลกเป็นเรื่องที่ล้าหลังไร้อารยธรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 กันยายน-5 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน  สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537


ไม่มีความคิดเห็น: