วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

หนังจันดารา"เหยียบย่ำ คณะราษฎร"จริงรึเปล่า!!!

ชาวเน็ตสับเละ! บทภาพยนตร์ "จันดารา" เหยี่ยบย่ำคณะราษฏร ใส่ร้ายปรีดีฯ

go6TV - มีเสียงวิจารณ์ถึงบทภาพยนตร์อีโรติคชื่อดัง “จัน ดารา ปฐมบท” ที่กำกับโดยหม่อมน้อย “หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล” อย่างอื้อฉาว เมื่อบทภาพยนตร์ได้กล่าวอ้างอิงถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ กล่าวถึงคณะราษฏร ด้วยข้อความอันเป็นเท็จในทางประวัติศาสตร์ บิดเบือนความเป็นจริงของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไม่ละอายแก่ใจ มีคำวิจารณ์ภาพยนต์หนึ่งที่น่าสนใจของนักศึกษากฏหมาย ผู้ใช้ชื่อในเฟสบุ๊ค Phuttipong Ponganekgul ได้แสดงทัศนะไว้ดังนี้

“ผมไปดู "จันดารา" เวอร์ชั่นหม่อมน้อย, ผมเห็นสมควรวิจารณ์ "ความเท็จ" ในภาพยนตร์จันดารา เวอร์ชั่นหม่อมน้อย ซึ่งโจมตีบทบาทของคณะราษฎร ด้วยข้อเท็จจริงที่เป็น "เท็จ" เอาไว้เป็นอุทธาหรณ์บ้างเล็กน้อย”

๑. ในภาพยนตร์เรื่องจันดารา เวอร์ชั่นหม่อมน้อย ดำเนินเรื่องว่า ขณะก่อการฯ นั้น มีประชาชนออกมา "ต่อต้านคณะราษฎร" และ "ทหารก็ใช้ปืนยิงไล่ประชาชน" นั้น คือ การป้อน "ข้อเท็จจริงเท็จ" เกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร กล่าวคือ ในวันก่อการฯ ไม่ได้มีประชาชนมา "ต่อต้าน" เลยนะ ดูจากภาพข่าวตัดหนังสือพิมพ์รายวันยุคนั้น ดูได้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีแต่ "คนมายืนดูเฉยๆ" (แบบไทยมุง) ประชาชนบางท่านยังวิ่งจ๊อกกิ้งตอนเช้ารอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ด้วยซ้ำ เช่น กรณี คุณอุ่น อินทรโยธิน (บรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน : ต่อมาเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ตอนเช้า วันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ :

"เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินนั้น...ท่านซึ่งออกจากราชการแล้วได้ไปเดินเล่นเวลาเช้าตามปกต​ิ เมื่อท่านเดินมาถึงหน้ากำแพงรั้วเหล็กพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านเห็น พ.อ.พระยาพหลฯ ที่ประกาศยึดอำนาจใจนามคณะราษฎรแล้วนั้น กำลังใช้เหล็กงัดโซ่ที่ล้อมประตูกำแพงรั้วเหล็กใส่กุญแจเหล็กไว้นั้น ทั้งนี้ เพราะ พ.อ.พระยาพหลฯ มีข้อกำยำแข็งแรงนัก เจ้าพระยาพิชเยนทรจึงเดินเข้าไปดูพลางท่านก็ปรารภว่า "พวกนี้มันสามารถ" แล้วท่านก็จากไป ต่อมาเวลาคณะราษฎรมีงานทำบุญท่านก็อุตส่าห์มาร่วมบ่อยๆ ท่านจึงได้รับความนับถือจากคณะราษฎร"

(โดยดู : ปรีดี พนมยงค์. ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. ตีพิมพ์ใน สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย. รวบรวมและจัดพิมพ์. 'เบื้องแรกประชาธิปตัย : บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย ๒๔๗๕ - ๒๕๐๐'. พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๑๖. หน้า ๖๑.)

๒. และมิหนำซ้ำ ยังดำเนินเรื่องชักจูงให้ผู้ชม เปรียบเทียบการยึดอำนาจภายในบ้านของ คุณหลวงฯ พ่อของจัน เอาอำนาจจากคุณท้าวซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน โดยใช้วิธี "ร่วมเพศกะสาวใช้ทุกคนในบ้าน" เพื่อดึงมาเป็นพวก และจะ "ปล้ำคุณท้าว" ในหนังใช้คำว่า "ปฏิวัติรัฐประหารอำนาจในบ้าน" คือว่าให้เป็นเรื่องของความโสมมเลวทราม ตัดฉากเทียบกับเหตุการณ์ ๒๔๗๕

๓. ตอกย้ำความคิดผ่านตัวละคร "เคน" กับ "จัน" ในการสนทนากันว่า การก่อการ ๒๔๗๕ เป็นการกาลีบ้านเมือง ในหลวงไม่เคยทำไม่ดี (ภาพตัดมาที่ ร.๗) พวกคณะราษฎรก็ทำเพื่อตนเองกับพวกพ้อง - ซึ่งเป็นสำนึกของพวกเจ้า ผ่านการโจมตี "ปรีดี พนมยงค์" โดยอาศัยตัวละคร "คุณหลวง" (พ่อของจัน) เดินเรื่องว่า "ตนเองไปคุยเจรจากับหลวงประดิษฐ์ฯให้ปล่อยตัวพวกเจ้า เคราะห์ดี ที่หลวงประดิษฐ์ฯเห็นแก่ความเป็นมิตรเก่า จึงยอมปล่อยพวกเจ้าที่ถูกจับไป "ขัง"" ซึ่งเรื่องนี้พยายามชี้ว่า "ปรีดี หรือคณะราษฎร - เห็นแก่พวกพ้อง" ซึ่งเป็น "ความเท็จ" ที่ชัดเจนมากๆ สำหรับในกรณีนี้ เพราะ สาเหตุที่ "ปล่อยเจ้า" ก็เพราะว่า "สถานการณ์นิ่ง" และมี "รัฐธรรมนูญ" แล้ว และคณะราษฎร ก็ให้พวกคณะเจ้า มาเขียนหนังสือ "สาบานว่าจะไม่กระทำหรือกล่าวความอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบ" อีกต่อไป จากนั้นจึง "ปล่อยไป" ในวันที่ ๒๘ มิ.ย.๒๔๗๕

   




ไม่มีความคิดเห็น: