วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหารเมื่อพ่ายแพ้หลักการนิติราษฎร์



“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ไม่สำเร็จแล้วจะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็เหมือนจุดไฟ ถ้ามันดับก็ต้องจุดใหม่ ให้มันรู้ไปว่าจะไม่ติดสักวันหนึ่ง”
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ กล่าวถึงการรณรงค์ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหารนิรโทษกรรม-ปรองดอง” เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคมได้จัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลให้ได้ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ซึ่งการจัดกิจกรรม 2 ครั้งได้รับความสำเร็จอย่างยิ่ง ทั้งกระแสตอบรับอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกระแสต่อต้านมากมาย
“สนธิ” ปลุกทหารรัฐประหาร
โดยเฉพาะการ “ปลุกผีวงจรอุบาทว์” ให้ทหารออกมาทำ “รัฐประหาร” โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศบนเวทีเสวนาปีใหม่-ตรุษจีนที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม และเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อ ASTV ผู้จัดการ โดยยังคงอ้าง “ในหลวง” ว่า
“ผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆแล้วสู้ ครั้งนี้พี่น้องไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด ผมเป็นคนแรกที่บอกว่าทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการให้แมลงสาบตีกินพวกเราอีก ผมเชื่อว่าในที่สุดจะมีเพียงพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรฯทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหารยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ”
เปอร์เซ็นต์สูงรัฐประหาร
ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร ออกมาย้ำในรายการ “ลับ ลวง พราง” ทางวิทยุ อสมท 100.5 หลังจากนายสนธิเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจว่า เห็นด้วยที่ทหารจะทำรัฐประหารอีกครั้ง และมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเกิดการปฏิวัติถ้ายังไม่เลิกดูหมิ่นสถาบัน จึงอยากให้ทหารออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มากๆ เพราะไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 หรือแตะต้องอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
“ถ้ามันถึงที่สุด ทางกองทัพก็ต้องพูดกันบ้าง ไม่ใช่พูดแค่มันปาก ต้องเอาจริง หากเกินเลยจนทหารทนไม่ได้ เพราะใน 7-8 ปีมีการทำลายสถาบันกษัตริย์มากเหลือเกิน ถ้าถึงที่สุด ถ้ามันมากเกินไปจนทนไม่ไหว ทหารก็อาจจะปฏิวัติแน่นอน”
เนรคุณแผ่นดิน?
การปลุกกระแสให้ทหารออกมาจึงไม่ควรมองแค่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่แม้วันนี้จะมีมวลชนสนับสนุนน้อยกว่าในอดีต เนื่องจากเกิดความแตกแยกและขัดแย้งกันเอง แต่คำพูดของนายสนธิก็ไม่ใช่เลื่อนลอยและเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีกลุ่มขาประจำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่มสลิ่มที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการกล่าวหาแบบเดิมๆว่าคณะนิติราษฎร์และผู้สนับสนุนเป็นพวก “ล้มเจ้า” และต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งที่คนกลุ่มเหล่านี้รู้ดีแก่ใจว่าใครหรือกลุ่มใดที่ดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง
คนเสื้อแดงจึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นเครือข่าย “ขบวนการล้มเจ้า” จาก “ผังล้มเจ้า” ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทั้งที่เป็น “ผังกำมะลอ” ที่ผู้มีอำนาจในขณะนั้นสร้างความชอบธรรมเพื่อปราบปรามคนเสื้อแดงและลบล้างความผิดจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีคนตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน
การคัดค้านและกล่าวถึงประเด็นมาตรา 112 จึงเป็นคนละเรื่องที่ไร้เหตุผลหรือหลักการทางวิชาการ ต่างจากที่คณะนิติราษฎร์พยายามชี้แจง เพราะฝ่ายที่ต่อต้านไม่ได้ต่อสู้ด้วยเหตุผลและหลักการ แต่พยายามทำให้มาตรา 112 เป็นเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ห้ามแตะต้องอย่างเด็ดขาด
อย่างเช่นกรณีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการสถาบันพระปกเกล้า ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมือง ซึ่งมีบางมาตรากำหนดให้พระมหากษัตริย์ ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า “ผมว่าก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดลให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่ามั้ย ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย!!!”
นิติราษฎร์ปกป้องสถาบัน?
ข้อเขียนของนายบวรศักดิ์จึงต้องการสะท้อนถึงนายวรเจตน์โดยตรงในฐานะที่ได้รับทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งนายวรเจตน์กล่าวถึงการเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลว่า เพราะเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวทางวิชาการเพื่อให้ใช้เหตุผลมาแก้ปัญหาเพื่อปกป้องสถาบัน ไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน
“สิ่งที่ผมทำอยู่คือการตอบแทน กตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียนคนอื่นๆที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร”
ด้านนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ที่รณรงค์เรื่อง “ฝ่ามืออากง” และสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ ตอบโต้นายบวรศักดิ์ผ่านเฟซบุ๊คว่า รู้สึกผิดหวังที่นายบวรศักดิ์สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากปารีส แต่กลับตอบโต้คณะนิติราษฎร์ด้วยคำพูดที่ childish แทนที่จะใช้มุมมองด้านวิชาการมาหักล้าง
“ทำให้ผมรู้ว่าตำแหน่ง “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” น่าจะได้กันมาง่ายๆอย่างนี้นี่เอง แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมคิดว่านายบวรศักดิ์จนด้วยปัญญาในการโต้เถียงกับนิติราษฎร์ก็เท่านั้น”
นายปวินยังพูดเรื่องทุนการศึกษาว่า ไม่ได้ห้ามให้คิดต่างว่าเป็นการเนรคุณ และคิดว่าหากในหลวงอานันทมหิดลยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ พระ องค์คงปลาบปลื้มใจที่นิติราษฎร์ได้สร้างคุณประโยชน์ในการปกป้องสถาบันประชาธิปไตย “ผมว่าในหลวงอานันท์รักและต้องการ “ความถูกต้อง” และ “ความยุติธรรม” ครับ”
นิติราษฎร์เสียเปล่า!
ส่วนนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ถูกโยงใน “ผังล้มเจ้า” และถูกกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 ยืนยันว่า ควรยกเลิกมาตรา 112 มากกว่าแก้ไข ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เชื่อว่าไม่มีทางที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายที่คณะนิติราษฎร์กำลังล่ารายชื่อในขณะนี้ ที่สำคัญจะไม่สามารถช่วย “อากง” และผู้ต้องหาคนอื่นๆได้อีกด้วย แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 6 ตุลา จะเป็นไปได้จริงก็ต้องมีเหตุการณ์ “ระดับปาฏิหาริย์” เท่านั้น แต่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นั้นต้อง “ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์”
ดังนั้น ความเห็นของนายสมศักดิ์ที่ระบุว่า การรณรงค์ของคณะนิติราษฎร์จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในที่สุดก็จะไม่ได้อะไรเลย และเสนอว่าควรรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั่วไป” ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเดินทางไปเยือนอินเดียว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งยังระบุว่าไม่ควรดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทุกฝ่ายควรร่วมกันปกป้อง เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าหากใครคิดแก้มาตรา 112 จะคัดค้านเต็มที่
อย่าดึงทหารยุ่งการเมือง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นมาตรา 112 ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองมากกว่าการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่จะเป็น “ระเบิดเวลา” หรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่คณะนิติราษฎร์และฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่อยู่ที่กลุ่มที่ต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ว่าจะเล่นนอกกติกาและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเหมือนก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือไม่มากกว่า อย่างที่นายสนธิประกาศชัดเจนให้ทหารล้มกระดาน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่า มีความพยายามจะดึงทหารลงมายุ่งกับการเมือง แต่ถ้าทหารทำหน้าที่ของตนเองก็ไม่มีใครดึงไปไหนได้ ทหารมีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ใครเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่เช่นนั้นก็รบไม่ได้ จึงต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็มีผู้บังคับบัญชา
“อย่าเอาทหารไปยุ่งเสียทุกเรื่อง หรือถือเป็นเรื่องสนุก ถ้าเอาทหารไปยุ่งทุกเรื่องก็ยุ่งทุกเรื่อง ไม่เป็นผลดีกับกองทัพ และไม่เป็นผลดีกับตัวผม”
ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็นกว้างๆว่า เป็นเรื่องของกระบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องดูว่าหากผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีของคนไทย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งมีคณะกรรมการเฝ้าจับตาดูอยู่แล้ว
ส่วน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกปล่อยข่าวว่าอาจเข้ามาเพื่อรื้อใหญ่ในกองทัพนั้น ยืนยันว่าไม่มีและไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอะไร โดยเฉพาะข่าวการย้าย พล.อ.ประยุทธ์เพื่อถอดสลักการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่มีแน่นอน ซึ่งถ้าสื่อไม่พูด ไม่ถาม บรรยากาศก็จะดีขึ้น
“ถ้าปฏิวัติเพราะเรื่องหมิ่นสถาบัน ผมว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลนะ แต่ผมขอร้องให้เลิกพูดเรื่องปฏิวัติอีก ไม่มีใครอยากทำ ผมเป็นทหาร แม้ไม่ใช่ ทบ. แต่ก็รู้ว่าไม่มีใครอยากทำ ไม่ใช่เรื่องดี มีประ-สบการณ์มาแล้วทั้งนั้น” พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว
พ.ร.บ.กลาโหมไม่ชอบธรรม
ขณะที่ความเห็นของ พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและนายทหาร ตท.10 ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112 เพราะล่อแหลมและจะทำให้เกิดความวุ่นวาย กลายเป็นเหยื่อในการปลุกระดม แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือคนที่เอาพระราชอำนาจไปกลั่นแกล้งทำลายผู้อื่น เพราะฉะนั้นต้องออกกฎหมายการแจ้งเท็จ ฟ้องเท็จเรื่องนี้ ถ้าไม่มีหลักฐานต้องลงโทษให้หนัก หรือจับไปขังเป็นปีเพียงกล่าวหาว่าล้มเจ้าก็ไม่มีความยุติธรรม
แต่ที่น่าสนใจคือ พล.อ.อำนวยกลับเห็นด้วยที่จะแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพราะเห็นว่าไม่ได้มาจากสภาของประ-ชาชน จึงไม่ชอบธรรม หากสมัยโบราณกฎหมายฉบับนี้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ต้องลงโทษตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร เพราะเท่ากับไปหลอกเบื้องสูง เอาไปทูลเกล้าฯให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะกองทัพกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่ “กองโจร” ที่ไร้ขื่อแป ไร้กฎระเบียบ
พล.อ.อำนวยมั่นใจว่าขณะนี้ทหารไม่กล้าปฏิวัติรัฐประหารแน่ ถ้าจะล้มรัฐบาลก็ต้องมาจากองค์กรอิสระแบบนิ่มๆ ถ้าล้มด้วยกำลัง แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีเอก-ภาพในการบังคับบัญชาหรือไม่ เพราะไม่ได้มีแค่เตรียมทหารรุ่น 12 แต่ยังมีรุ่นอื่นอีก
“กองทัพเหมือนม้า อยู่ที่จ๊อกกี้จะพาไปทางไหน คราวที่แล้วจ๊อกกี้บอกให้กองทัพปฏิวัติก็ปฏิวัติ ลำพังม้าเองไม่กล้า อยู่ที่จ๊อกกี้” พล.อ. อำนวยกล่าว
กลียุคและหายนะ!
แต่การเมืองไทยไม่เคยมีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เพราะนักการเมืองพร้อมจะเปลี่ยนพรรค เปลี่ยนอุดมการณ์ตามผลประโยชน์เท่านั้น แต่การรัฐประหารที่อ้างทุกครั้งว่าเพราะนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันและปกป้องสถาบันนั้น กลุ่มที่ทำรัฐประหารกลับทุจริตคอร์รัปชันเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณลับมหาศาลที่ไม่เคยมีการตรวจสอบได้เลย ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งพวกพ้องเข้ามาดูแลผลประโยชน์ต่างๆอีกด้วย
นอกจากนี้การทำรัฐประหารส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งภายในกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเดิม อย่างการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณถือเป็นบทเรียนให้เห็นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะการดึง “สถาบันเบื้องสูง” มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการพยายามบิดเบือนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าเป็น “ขบวนการล้มเจ้า” หรือรับจ้าง พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะใช้หลักการทางวิชาการต่อสู้กันในเวทีสาธารณะหรือตามกระบวนการในรัฐสภา แต่กลับ “ปลุกผีปฏิวัติรัฐประหาร” หากเป็นจริงก็มีแต่ทำ ให้บ้านเมืองเกิดกลียุคลุกเป็นไฟและหายนะยิ่งกว่าที่ผ่านมาแน่นอน
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 344 วันที่ 28 มกราคม -3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ไม่มีความคิดเห็น: