วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ศูนย์ประสานงานเพื่อประชาธิปไตย (ศปป.) แสดงตนเป็นแดงอย่างเหนียวแน่น แต่แยกตัวไม่ยอมผูกพันกับ นปช.

ในวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ คนเสื้อแดงได้ไปรวมตัวกันเพื่อรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กลุ่ม นปช. จัดเวทีปราศรัยที่หลักสี่ ส่วนกลุ่มย่อยชุดใหม่ไปจัดอภิปรายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มใหม่นี้เรียกตัวเองว่า ศูนย์ประสานงานเพื่อประชาธิปไตย (ศปป.) ซึ่งยังไม่มีชื่อภาษาอังกฤษ แต่ประกอบด้วยกลุ่มเสื้อแดงเสรีต่างๆ กว่าร้อยกลุ่ม อาทิ กลุ่ม กทม.๕๐ เขต ซึ่งแยกตัวออกจาก นปช.เมื่อต้นปี บรรดาวิทยุชุมชนในชนบทอีกหลายกลุ่ม (รวมทั้งกลุ่มของโกตี๋) กับกลุ่มที่เคยร่วมงานกับแดงสยามจำนวนมาก (แดงสยามยุติไปหลังจากที่แกนนำ สุรชัย แซ่ด่าน ถูกจับกุม และคุมขังในข้อหาหมิ่นสถาบันฯ)


กลุ่มใหม่นี้แสดงตนเป็นแดงอย่างเหนียวแน่น แต่แยกตัวไม่ยอมผูกพันกับ นปช. อีกต่อไป และไม่ยอมคล้อยเคลื่อนตามมวลชนของ นปช. อ้างว่า นปช. อ่อนลง และไปเข้ากับรัฐบาลมากเกินไป กลุ่มนี้จัดตนเองอยู่ในแนวทางปฏิวัติถ้าเทียบกับ นปช. และรัฐบาลซึ่งอยู่ในแนวทางปฏิรูป ปัจจุบันยังไม่ปรากฏสายการนำว่าเป็นผู้ใดเด่นชัด มีดารุณี กฤติบุญญาลัย นักธุรกิจหญิงเศรษฐีณี ผู้ซึ่งหลังเหตุการณ์พฤษภา ๕๓ ไปลี้ภัยการเมืองพักใหญ่ เพิ่งกลับมาปรากฏตัวได้ไม่นาน แล้วโดดเด่นขึ้นมาใหม่เมื่อถูกครูคนหนึ่งไปชี้หน้าด่าที่สยามพารากอน เธอเสนอตัวเข้าไปเป็นผู้ประสานงานให้แก่กลุ่มใหม่นี้
 
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยดร. สุนัย จุลพงศธร ซึ่งเคยเป็นผู้อภิปรายรับเชิญของเวทีแดงสยามบ่อยๆ ได้รับเชิญให้ขึ้นปราศรัยในเวทีใหม่นี้ด้วย แต่เขาก็ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในกลุ่มใหม่ และมีปรากฏการณ์ไม่คาดฝันของผู้จัดเมื่อแกนนำ นปช. อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ไปร่วมชุมนุมขึ้นเวทีอภิปรายเช่นเดียวกับชินวัฒน์ หาบุญพาด รวมทั้งทอม ดันดี ก็ไปปรากฏตัวร่วมงานเช่นกัน
 

นิค น้อสทิตซ์เขียนความเห็นเพิ่มเติมหลังจากมีผู้เข้าไปแสดงข้อคิดต่อท้ายบทความว่า

ขณะที่โดยรวมตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วเสื้อแดงมักมีจุดมุ่งหมายมากกว่าให้ทักษิณได้กลับบ้านเท่านั้น (ซึ่งอันนี้ตรงข้ามกับที่ฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงคิด) แต่ก็ไม่มีเสื้อแดงกลุ่มใดแสดงให้เห็นว่าพร้อม หรือเต็มใจที่จะแยกตัวจากทักษิณ อันนี้เกิดจากบางส่วนที่ให้การสนับสนุนทักษิณอย่างท่วมท้นระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรี และบางส่วนจากการยอมรับในทางปฏิบัติว่าปราศจากทักษิณแล้วพวกเขาจะสูญเสียเสน่ห์เร้ารึงใจมวลชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับเสื้อแดงเป็นทั้งส่วนที่มีการสนับสนุนอย่างแท้จริง และส่วนที่เป็นการผูกพันต่อกันทางยุทธศาสตร์ และแน่นอนเลยว่ามันไม่ใช่ความผูกพันทางเดียว ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการซึ่งกันและกัน

ถ้อยแถลงที่เป็นการอ้างลักษณะในการปฏิวัติไม่ใช่การปฏิรูปนั้นได้มาจากการพูดคุยกับผู้ร่วมจัดชุมนุมหลายคนโดยตรง ทั้งในระหว่างการชุมนุม และจากการได้สนทนาเรื่อยมาตลอดเวลาหลายปี การปฏิวัติในมิติที่กล่าวถึงกันนี้อย่างไรก็ดีไม่ได้มีลักษณะของความรุนแรงเลย ไม่มีความหมายในทางที่จะจัดตั้งกองกำลังของประชาชนขึ้น หากแต่เป็นการปฏิวัติในทางอุดมการณ์เสียยิ่งกว่า

เกี่ยวกับคำปราศรัยบนเวที มีบางตอนที่น่าสนใจทีเดียว ผมเพียงตั้งใจฟังเป็นครั้งคราว เพราะต้องสาละวนกับการถ่ายภาพ การตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงกับแกนนำบางคน และเรื่องอื่นๆ...

สำหรับอนาคตของกลุ่มนี้ มันยังเนิ่นเกินไปที่จะคาดหมายอะไรได้ เราควรรอดูต่อไปอีกหน่อยค่อยฟันธง

ความเห็นเพิ่มเติมอีกตอน นิคตอบผู้อ่านที่เข้าไปเขียนซักถามสองรายดังนี้

เกร็ก โลว์ จอห์นนิบีเคเค

คำ นปช. และ เสื้อแดง ที่สื่อใช้แทนกันเหมือนเป็นสิ่งเดียวกันนั้นไม่ถูกต้อง ย้อนกลับไปในสมัยที่มีการรัฐประหารก่อนที่จะมีการจัดตั้ง นปช. ขึ้นครั้งแรก ยังมีกลุ่มที่เรียกชื่อว่า ๒๔ มิถุนายน ซึ่งก่อตั้งโดยสมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ผู้ที่ขณะนี้ยังถูกคุมขังอยู่ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร แล้วต่อมาในเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ๒๕๕๑ กลายเป็นกลุ่มเสื้อแดง ก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ นปช.

กลุ่มแดงสยามซึ่งสลายตัวในปี ๒๕๕๔ ก็แยกตัวออกจาก นปช. ในปี ๒๕๕๒ แดงสยามเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดงแต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ นปช. เสธ. แดงไม่ใช่คนของ นปช. แต่ก็เป็นเสื้อแดง สมบัติ บุญงามอนงค์ไม่เคยสังกัด นปช. แต่เป็นเสื้อแดงชัดแจ้ง

โดยพื้นฐานแล้วภายในขบวนการเสื้อแดง นปช.เป็นองค์กรจัดตั้งขนาดใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ นปช. กลุ่มเหล่านี้เรียกชื่อรวมกันว่า เสื้อแดงเสรี บางกลุ่มดังเช่นกลุ่ม ๒๔ มิถุนายน เป็นกลุ่มดั้งเดิม หลายกลุ่มเพิ่งเกิดใหม่ เช่นที่มาจากกลุ่มวิทยุชุมชนซึ่งมักจะพิจารณาตัดสินใจเป็นกรณีๆ ไปว่าจะร่วมมือกับ นปช. หรือว่าทำงานโดยอิสระ

ความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยกับเสื้อแดง (และ นปช.) มักจะมีลักษณะที่สับสนเกินกว่าสื่อมากหลายจะสามารถให้เครดิตได้อย่างจะแจ้ง จนบัดนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ นปช. โดยทั่วไปยึดแนวทางการปฏิรูป ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อแตกต่างกับพรรคเพื่อไทยอยู่เสมอ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเองเมื่อเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับ นปช. ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนที่มีลักษณะโดดเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว มี ส.ส. ที่หัวใจเป็นเสื้อแดงมากกว่าเป็นเพื่อไทย (บางคนใกล้ชิดไปทางแดงสยาม และแดงเสรีมากกว่า นปช. ด้วยซ้ำ) และก็มีนักการเมืองเพื่อไทยจำนวนมากที่ไม่เคยไปร่วมเวทีกับเสื้อแดง ไม่ชอบเสื้อแดง แต่ก็รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งเสื้อแดง

ตลอดมามีการกระทบกระทั่ง และโต้แย้งกันในขบวนการเสื้อแดงที่สื่อมักจะตีความทำนายเสมอว่าจะเป็นการสิ้นสุดของขบวนการ ผมเชื่อว่าการกระทบกระทั่งเหล่านั้นได้ถูกตีความไปในทางร้ายมากเกินไป ความเห็นของผมเชื่อว่าการกระทบกระทั่งครั้งแรกมิใช่เกิดภายใน นปช. หรือ เสื้อแดงโดยตรง แต่เกิดระหว่างทักษิณ และเสื้อแดง เมื่อทักษิณเสนอให้ออก พ.ร.บ.ปรองดองที่รวมถึงการนิรโทษกรรม ซึ่งองค์กรเสื้อแดงเกือบทั้งหมดปฏิเสธ (คนเสื้อแดงที่ผมได้พบว่าสนับสนุนการปรองดองมีแต่เพียงผู้ที่ต้องคดีในข้อหาร้ายแรงเท่านั้น พวกเขาก็แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่ใช่ประเด็นของหลักการ หากแต่พวกเขาไม่อยากที่จะต้องไปติดคุกเป็นเวลายาวนานเท่านั้นเอง)
 
 

แต่ต้องหันมาดูกันที่ความเป็นจริง ขบวนการเช่นนี้ล้วนมีฝักฝ่าย มีการเสียดสี มีการแตกกระจายด้วยกันทั้งนั้น มันเป็นธรรมชาติของขบวนการมวลชน เสื้อแดงไม่ใช่กองทัพที่มีโครงสร้างรัดกุม แต่เป็นเพียงกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ฐิตินันท์ (พงษ์สุทธิรักษ์ รศ. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ว่าไว้ถูกต้อง ที่บอกว่า อจ.ธิดาพยายามทำให้ขบวนการเสื้อแดงเป็นกลาง นี่เป็นจุดหมายหลักของธิดานับแต่เธอเข้าไปรักษาการณ์ประธาน นปช. ในปี ๒๕๕๓ (และที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น เธอก็ทำงานอยู่เบื้องหลังในฐานะนักทฤษฎี และวางแผนยุทธศาสตร์) จุดยืนในความเป็นกลางของเธอเกิดมาจากประสพการณ์เมื่อครั้งอยู่ป่าช่วง ทศวรรษ ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๔) แต่ว่าธิดาภายใต้เสื้อแดงเป็นแกนนำที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และไม่ได้การยอมรับอย่างถ้วนทั่ว ทั้งเสื้อแดง และ นปช. เปลี่ยนแปลงไปมากนับแต่ปี ๒๕๕๓ และไม่ใช่กระบวนการจัดตั้งจากบนสู่ล่างอย่างที่เคยเป็น (ในบางกรณี) และ ๒๕๕๓ เป็นปีที่นำเข้าสู่การปลดปล่อยของขบวนการเสื้อแดง

ผมคิดว่าเราไม่อาจจะเปรียบเทียบการแยกกระจายของเสื้อแดงกับของ พธม.ได้เนื่องจากทั้งสองขบวนการมีที่มาแตกต่างกัน เมื่อวิเคราะห์อุดมการณ์ของสองขบวนการแล้วจะเห็นได้ชัดว่าของเสื้อแดงมีความน่าเชื่อ และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในเรื่องของการเรียกร้องทางการเมือง และเรื่องอุดมการณ์ ขณะที่ พธม. มักรู้ดีว่าพวกตนต่อต้านอะไร แต่ไม่อาจสร้างมติร่วมได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันต่อสิ่งที่ต้องการเรียกร้อง ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ที่ออกมามักจะประหลาดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไปร่วมชุมนุมกับ พธม. ทุกวันนี้จะรู้สึกได้ดีว่าเต็มไปด้วยบรรยากาศของลัทธินิกายศาสนา แม้จะมีพวกที่มีภูมิปัญญาอยู่โดยเฉพาะในหมู่แกนนำรุ่นที่สอง แต่ก็ดูล้วนจะหลงทางกันทั้งนั้น การครอบงำเหนือมวลชนของสนธิเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว คำปราศรัยของสนธิจะเต็มไปด้วยการทำนายที่พิลึกๆ ด้วยน้ำหนักของความศักสิทธิ์แห่งลัทธินิกายศาสนา ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นการแสดงบทของเขา หรือว่าเขาได้กลายไปเป็นประเภท...เพี้ยน เขาไม่ค่อยพูดกับสื่อเสรีอีกต่อไป ฐานะทางการเงินของ พธม. ก็ไม่มั่นคงเหมือนก่อน ตั้งแต่การชุมนุมในปี ๒๕๕๔ มาจะไม่ค่อยเห็นพวก ผู้ใหญ่ ไปร่วมกันอีก ไม่เหมือนการชุมนุมในปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๑ ซึ่งดังว่าเป็นความโก้หรูที่พวกชนชั้นนำจะต้องไปนั่งในการชุมนุมของ พธม.

โดยที่มีการร่วมมือกันโดดเด่นบางประการของพันธมิตรฯ กับพรรคประชาธิปัตย์ ดังที่ได้เห็นในการประท้วงที่รัฐสภา และที่กองปราบเมื่อเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนที่ผ่านมา ก็มิได้มีความรักปักใจอะไรต่อกันนักหนาระหว่าง พธม. กับ ปชป. ประชาธิปัตย์รุกอย่างหักโหมในการก่อม็อบของตนเองบนท้องถนนที่สามารถควบคุมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งต่างไปจากในปี ๒๕๔๙ และ  ๒๕๕๑ ที่ ปชป. ให้การสนับสนุน และให้ทุน พธม. อย่างลับๆ แต่ก็ไม่สามารถกำหนดทิศทางของม็อบได้


บันทึกผู้แปล : นิค น้อสทิตซ์เป็นผู้สื่อข่าว-ช่างภาพชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า ๑๘ ปี ได้เข้าไปทำข่าว ถ่ายภาพในพื้นที่การชุมนุมอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เหตุการณ์เดือนเมษายน ๒๕๕๒ (สงกรานต์เลือด) มาถึงเมษายน พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่เขาได้เห็นเพื่อนนักข่าวชาวไทยถูกกระสุนของทหารล้มลงต่อหน้าที่ราชปรารภ ตนเองก็หวุดหวิดถูกลูกหลงหลายครั้ง จนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ทำให้เขาทนไม่ได้ เดินขึ้นไปแจ้งความที่โรงพักลุมพิณี และเข้าให้การต่อคณะกรรมการ และกรรมาธิการค้นหาความจริงในเหตุรุนแรงคอกวัว-ราชประสงค์หลายครั้ง

แต่ก็น่าละอายอย่างยิ่งที่ความจริงที่นิคได้ให้ไว้แก่ทางการมิได้สะท้อนออกมาในรายงาน คอป. ของดร.คณิต ณ นคร เลยแม้แต่น้อย แถมยังถูกพรรคประชาธิปัตย์ และหน่วยโฆษณาชวนเชื่อบลูสกาย หรือสายล่อฟ้านำไปปั้นน้ำเป็นตัวตนคน ชุดดำ สี่ห้าคนขึ้นมารับบาปแทนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เบี่ยงเบนให้พ้นจากการรับผิดชอบในฐานะผู้สั่งการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงครามร้ายแรง จนมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า ๙๙ คน และบาดเจ็บนับพัน

นิคได้เขียนเล่าเหตุการณ์เดือนพฤษภา ๕๓ ไว้ในเว็บไซ้ท์นิวแมนดาล่าเรื่อง Nick Nostitz in The Killing Zone ซึ่งมีการแปลเป็นไทยไว้ที่บล็อกเกอร์  มาหาอะไร ส่วนบทความที่นำมาแปลลง ณ ที่นี้ เป็นการรายงานข่าว และสังเกตุการณ์ของนิคระหว่างการรณรงค์ที่เรียกว่าแรลลี่ชายชุดดำของพรรค ปชป. และสายล่อฟ้าในช่วงก่อนวันที่ ๑๔ ตุลาคมที่ผ่านมา กับในการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รายงานของนิคนอกจากจะเป็นแหล่งค้นหาความจริงเกี่ยวกับประเทศไทยต่อชาวโลกที่ไม่รู้ภาษาไทย หรือไม่ทราบตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งสื่อในประเทศทั้งภาษาไทย และอังกฤษส่วนใหญ่เลือก (ข้าง) ที่จะไม่นำเสนอกัน ซ้ำยังมีการบิดเบือนอย่างจงใจไร้จริยธรรมจากพรรค และกลุ่มการเมืองที่เห็นแก่อำนาจ และผลประโยชน์อีกต่างหาก การนำเสนอของนิคยังเป็นประโยชน์แก่คนไทยในประเทศที่รับรู้ความจริงเช่นเดียวกับเขา หากแต่เกิดความละล้าละลังเพราะความจริงเหล่านั้นถูกปกปิดกดดันเสียจนแทบจะสูญสิ้นศรัทธาต่อการยึดมั่นในคุณธรรม

ความจริงที่นิคเสนอ แม้ในส่วนที่เป็นเรื่องปีนเกลียว หรือกระทบกระทั่งกันในขบวนการเสื้อแดง ที่เขาเรียกว่า infightings บ้าง หรือ frictions บ้าง เขาก็ยังให้ความเห็นว่า มันเป็นธรรมชาติของขบวนการมวลชน และจริงยิ่งกว่านั้น มันคือเนื้อหาของประชาธิปไตย ถ้าหากเป็นการปีนเกลียว และกระทบกระทั่งกันในหลักการ และข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ ความหลงใหล และการสร้างภาพบิดเบือน



ที่มาข่าว  http://thaienews.blogspot.com/2012/10/blog-post_23.html



...................................................................................................................................................................



หากย้อนไปดูในอดีตในขณะที่ พธม.กำลังบ้าระห่ำบุกเข้ายึดทำเนียบไว้ ในท้องสนามหลวงคนเสื้อแดงยังไม่ค่อยกล้าออกมาชุมนุมกันนัก ตอนนั้นในท้องสนามหลวง คนที่เป็นแกนนำปราศรัย ก็จะเป็นกลุ่มของ อ.ชินวัฒน์ หาบุญพาด และกลุ่มของ อ.วิภูแถลง  พัฒนภูมิไท, คุณสุชาติ นาคบางไทร, อ.สุรชัย  แซ่ด่าน , ดา  ตอร์ปิโด, และกลุ่มสนามหลวง ที่มี อ.เคทอง คนสนิทของเสธ.แดง คอยดูแลความปลอดภัยให้มวลชน ดึเด็ดเผ็ดมัน ครั้งนั้นต้องเป็นดาราดาวร้าย อย่าง เล็ก เผด็จ





แค่พูดให้คิดถึงอดีตกันบ้างว่าใครเป็นมาอย่างไร
 

ไม่มีความคิดเห็น: